มีโอกาสไปร่วมทริปโครงการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรืออพท. ที่จังหวัดน่าน โดยต้องขอบคุณอพท.ที่มอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะทำงาน Creative Tourism Brain Bank
เราออกเดินทางสู่ท่าอากาศยานน่านนคร น่านเป็นเมืองเล็กน่ารักที่หลงเสน่ห์มานานแล้ว มีโอกาสไปมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เบื่อเลยสักครั้ง ก่อนลงน่านเราก็มองเห็นแม่น้ำน่านจากบนเครื่องบิน ที่หล่อเลี้ยงชาวน่านและอีกหลายจังหวัด เป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
เขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล รวมพื้นที่ 138.37 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เขตอำเภอเมือง ตำบลในเวียง ตำบลดู่ใต้ ตำบลนาซาว ตำบลบ่อสวก เขตอำเภอภูเพียง ตำบลม่วงตึ๊ด รวมกันเป็นน่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต ซึ่งทริปนี้เราจะมาในภารกิจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ภายใต้ความดูแลของอพท.6 ที่ดูแลพื้นที่พิเศษน่าน
ในพื้นที่นี้จะเป็นที่ตั้งชุมชนสมัยประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย มีแหล่งโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เมืองเก่าน่าน เวียงพระธาตุแช่แห้ง กำแพงเมืองและคูเมืองโบราณ แหล่งโบราณคดีชุมชนดอยภูซาง และเตาเผาโบราณบ่อสวก โดยมีเป้าหมายให้น่านเป็นเมืองแห่งการศึกษาเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เป็นดินแดนมรดกน่าน มรดกไทย และมรดกโลก การก่อสร้างใดๆในเขตนี้อยู่ภายใต้กฎหมายการควบคุม เราจะไม่เห็นตึกสูง และหน่วยราชการสำคัญก็ได้ย้ายออกไปอยู่นอกเขต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดและผลกระทบต่างๆ
หลังจากนั้นมีโอกาสไปแวะชมย่านเมืองเก่าน่าน เริ่มที่แรกนั่งชิลด์ๆที่ร้านคาเฟ่อะเมซอน
บรรยากาศออกแบบให้สอดคล้องกับเมืองเก่า
ไปน่านทั้งทีต้องแวะวัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์อ.เมืองน่าน จ.น่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้แกะสลัก ลวดลายสวยงาม มีองค์พระประธานที่งดงาม
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงชีวิต และวัฒนธรรม ที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน จุดเด่นบนที่สุดบนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมด เป็นภาพของชายหญิงชาวไทลื้อในสมัย โบราณกําลังกระซิบสนทนา ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิงแต่งกายตามแบบของชาวไทลื้อเต็มยศ ซึ่งภาพนี้ ถูกเรียกว่า ‘ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน’ ภาพมีความประณีตและสามารถสื่ออารมณ์ ได้อย่างเด่นชัด จนกลายเป็นสิ่งแรกที่นึกถึงเมื่อกล่าวถึงจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าภาพนี้ดังระดับโลกจริงๆ
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ทั้งหมด ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนา การค้าขาย การดํารงชีวิต และศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกัน มาจนปัจจุบัน นับเป็นสถานที่ที่บรรจุเอาเรื่องราว เมืองน่านในอดีตมาไว้ในที่เดียว ยังมีภาพสวยๆที่ถูกเรียกว่าโมนาลิซ่าเมืองน่านด้วย
ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ถูกนำไปเป็นสัญลักษณ์ของสินค้ามากมาย และยังมีการนำภาพนี้ไปสร้างสรรค์เป็นภาพกระซิบรักอื่นๆด้วย สมดังว่า กระซิบรักบันลือโลก
ไปที่วัดสวยมากอีกแห่ง วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็นที่ประดิษฐานของ เสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน
มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี พ.ศ.2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียก เสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง
ต่อมาปีพ.ศ. 2527 ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็น แบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ
เรียกว่ามีความสวยงามวิจิตรบรรจงมาก เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวน่าน
ถึงเวลาเรียนรู้สินค้าสร้างสรรค์กันแล้ว เริ่มการทำโคมมะเต้าที่ บ้านม่วงตึ๊ด ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน
กล่าวกันว่าชื่อ “บ้านม่วงตึ๊ด” มาจากที่ตั้งของชุมชนอยู่บนลําน้ําน่าน ต่อมาเกิดตลิ่งพัง จนถึงต้นมะม่วง จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ ม่วงตึ๊ด” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่ตลิ่งพังถึงต้นมะม่วงที่กั้นไว้ และอีกความหมายหนึ่งก็คือ คําว่า ตึ๊ด หมายถึง ป่าละเมาะที่เป็นป่าทึบ
เราสนุกกันมากกับการทำโคมมะเต้า คือ โคมของเมืองน่าน ใช้สําหรับแขวน สําหรับการประดิษฐ์โคมนั้น ประกอบ ด้วยขั้นตอน 3 ขั้นตอนคือ คือการขึ้น รูปด้วยโครงไม้ไผ่จากนั้นติดกระดาษ และตกแต่ง ให้สวยงาม
นักท่องเที่ยวที่สนใจทําโคมมะเต้า อาจจะเริ่มลงมือทําตั้งแต่กระบวนการแรก คือ การขึ้นรูปด้วยโครงไม้ไผ่ ให้เป็นกรอบสี่เหลี่ยม จัตุรัส ( มีสามขนาดคือ 10 นิ้ว 7 นิ้ว และ 3 นิ้ว) แล้วนํากรอบไม้ไผ่มาผูกขึ้นรูปเป็นกรอบของโคม ขั้นติดกระดาษ ตกแต่งตัดลายด้วยกระดาษสีด้วย ลายมงคลต่างๆ หรือรูปสัตว์ตามราศี
จากนั้นเราได้ไปถวายโคมเมืองน่าน ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง
ที่นี่คือพระอารามหลวง วัดที่ประดิษฐาน พระธาตุประจำปีเถาะ(กระต่าย) ตามความเชื่อของคนล้านนา
เดินชมวัดที่สวยงามมาก
อิ่มใจได้บุญทั้งคณะ
กิจกรรมถัดมา คือการเรียนรู้การจักสาน ที่ชุมชนบ้านต้าม ในบ่อสวก เป็นชุมชนที่มีอายุกว่า 150 ปีภูมิประเทศของชุมชนบ้านต้ามมีภูเขา ล้อมรอบและมีลําห้วยต้ามไหลผ่านหมู่บ้าน มีพื้นที่ ป่าชุมชน
ทำความรู้จักเครื่องจักสานที่ เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจําวัน ของคนบ้านต้าม และทดลองสานกัน
รวมไปถึงเครื่องจักสานที่ใช้ใน พิธีกรรมของชุมชน คือ “ตาแหลว” ประเภท ต่างๆ เช่น ตาแหลวหมายนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สําคัญก่อน การเริ่มทํานาเป็นต้น นี่ละผลงาน
อีกกิจกรรมคือการทำ ตุงค่าคิง ตุง คือ ธงแขวนในวัฒนธรรมล้านนา ประเภทหนึ่ง ใช้ประกอบในการประดับหรือ ประกอบพิธีกรรม ตุงล้านนามีหลากหลายรูปแบบ อาจทําด้วยกระดาษ ผ้า ไม้ หรือโลหะ
ในจังหวัดน่านมีความเชื่อและการทํา “ตุงค่าคิง” (ตุงก้าคิง) หรือตุงที่ขนาดความยาว เท่ากับความสูงของผู้ทําหรือผู้อุทิศ (ค่า-เท่ากับ, คิง-ตนเอง)
โดยถือว่าเป็นการทําเพื่อการสะเดาะห์ เคราะห์หรือจัดทําขึ้นในช่วงพิธีสงกรานต์หรือช่วงปีใหม่ของล้านนา
พอทำเสร็จเราก็นำไปถวายในวัดพระเกิด จะมีตุงมากมายแขวนอยู่ในนั้น
และยังมีโอกาสไปเรียนรู้ความเป็นน่าน ณ หออัตลักษณ์น่าน ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆของน่านอย่างน่าสนใจ
ได้ชมเตาเผาโบราณและพิพิธภัณฑ์บ้านสวกแสนชื่น ของจ่ามนัส ติคำ
เตาโบราณที่น่าทึ่งมาก
และชมการทอผ้าของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบ่อสวก
ลายผ้าต่างๆงดงามมาก
เป็นทริปสั้นๆแต่ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ในทุกๆงานศิลป์ที่ทำ
“ เราทำเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้เพื่อการท่องเที่ยว เราทำให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ประเทศไทยยั่งยืน” จากคำกล่าวของพันเอกดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรืออพท.
ขอขอบคุณ
พันเอกดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการอพท.
ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ Perfect Link Consulting Group
ที่สนับสนุนการเดินทางของ Travelista นักเดินทาง
ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวได้ที่ www.bloggertravelista.com
https://www.facebook.com/Mediabloggerclub