Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านพุน้ำร้อน

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 30 กันยายน 2561 11:29:40 จำนวนผู้ชม : 1634
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านพุน้ำร้อน

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านพุน้ำร้อน

ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

 “วิถีตน (ครั่ง) รักป่า รู้รักษาวัฒนธรรม @พุน้ำร้อน”

“ด่านช้าง” ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ใกล้เชิงเขาตะนาวศรีที่ทอดยาวเป็นพรมแดนธรรมชาติในภูมิภาคตะวันตกผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้จึงทำให้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า อันเป็นผู้คนในท้องถิ่นแต่เดิม และลาวครั่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกอพยพจากการสงครามสมัยต้นกรุงฯ ถูกให้ไปตั้งถิ่นฐานเฝ้าด่านชายแดนตะวันตกด้านนี้ตั้งแต่เมื่อสมัยต้นกรุงเทพฯ  

ชุมชนชาวลาวครั่งหลวงพระบาง ร่วมใจกันฟื้นฟูป่าชุมชน พร้อมทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าลาวครั่งผ้าซิ่นตีนจกสีแดง อันเป็นเอกลักษณ์ และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง

สุพรรณบุรีมีดีต้องไปโดน เที่ยวแบบเชิงวัฒนธรรมกันบ้างว่ามีอะไรน่าเที่ยวที่สุพรรณบุรี หยุดวันเดียวเราก็เที่ยวได้

ทริปนี้มุ่งหน้าไปที่ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านพุน้ำร้อน ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในพื้นที่อำเภอด่านช้างนี้ ได้มีการสำรวจพบร่องรอยกิจกรรมถลุงเหล็กและตะกั่วหลายแห่งกระจายอยู่ในหลายตำบล และยังมีโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ขุดพบ เป็นจำนวนมาก เก็บรักษาไว้ที่วัดพุน้ำร้อนตำบลด่านช้าง

อำเภอด่านช้าง เป็นบริเวณที่ได้พบมรดกทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลาย มีทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นประเพณีวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า ลาวครั่ง เป็นต้น และมรดกทางวัฒนธรรมประเภทหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งจากการสำรวจของนักโบราณคดีและปราชญ์ท้องถิ่นทำให้ได้ทราบว่า พื้นที่อำเภอด่านช้างมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยหินใหม่เมื่อประมาณกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ได้พบหลักฐานของคนสมัยนี้หนาแน่นในเขตบ้านพุน้ำร้อน บ้านโป่งคอม และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนในระยะหลังสมัยอยุธยาพื้นที่นี้ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งแร่ธาตุเหล็กและตะกั่วที่สำคัญของสมัยนั้น และอาจรวมไปถึงบรรดาของป่าต่างๆ ด้วย

รวมถึงมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่และบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวด่านช้าง

            ตั้งแต่ในอดีตยุคหินใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน เที่ยวแบบนี้ลองดูสิ ว่าเราพาไปชมที่ไหนกันบ้าง นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน ชมกระบวนการกรรมวิธีทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ ตลาดถนนคนเดินประชารัฐบ้านพุน้ำร้อน อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง (ปางอุ๋ง สุพรรณบุรี)

พร้อมแล้วไปเลยค่ะ ไม่ใช่เจ้าถิ่นสุพรรณบุรี ก็เช็คอินได้

เริ่มกันเลยที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน สถานที่ตั้ง บ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 4 ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนพุน้ำร้อนให้เป็น #แหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม โดยจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่จัดแสดง #โบราณวัตถุ ที่พบในพื้นที่และบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวด่านช้างตั้งแต่ในอดีตยุคหินใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน

ไปดูข้างในกันค่ะว่ามีอะไรจัดแสดงบ้าง มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนพุน้ำร้อนให้เป็น แหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม โดยมีท่านพระครูวิสิฐสุวรรณคุณ (พระอาจารย์เสน่ห์)เจ้าอาวาสวัดเป็นผู้ดูแล กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า ลาวครั่ง ที่พุน้ำร้อน และผ้าทอลายโบราณของชาวบ้าน ที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน

"มรดกป่าไม้ มากมายประเพณี หน่อไม้ดี เห็ดโคนหวาน แหล่งขวานหิน ถิ่นทอผ้า บ่อน้ำร้อน"

โบราณวัตถุที่พบส่วนมากเป็นกลุ่มของเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัดหินต่างๆ สมัยยุคหินใหม่ ต่างหู ซึ่งมีนายสมศักดิ์ อินทร เป็นผู้บริจาคส่วนใหญ่ให้กับทางวัดก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์โดยสมบูรณ์ โดยวัตถุโบราณสิ่งของต่างๆ นั้นจะจัดวางภายในตู้กระจกกันฝุ่น โดยกระจายไปตามแต่ละหมวดของวัตถุโบราณ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายชื่อ เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชม

            ภาชนะดินเผาแบบมีปุ่มสี่ด้าน พบที่แถบอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในพิพิธภัณฑ์บ้านพุน้ำร้อน ในยุคหินเรื่อยมาในหมู่บ้านพุน้ำร้อน บ้านหนองปลากระดี่ บ้านโป่งคอม บ้านทุ่งมะกอก บ้านตะเพินคี่ และบ้านท่าเย็น โดยมากแล้วจะอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขา ที่มีลำห้วยกระเสียวไหลผ่าน

จึงสันนิษฐานกันว่าบริเวณเหล่านี้น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์มานานกว่า 3500 ปีมาแล้วโดยประมาณ

            นอกจากนั้นเรายังพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ถูกบรรจุลงในภาชนะดินเผาสี่หูเคลือบ และหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ พบเครื่องมือที่ทำด้วยหิน เช่น แท่นหินบดยาและหินบดยา สมัยทวารวดีซึ่งพบที่บ้านโป่งข่อย ขวานหินที่ได้จากบ้านละว้า บ้านวังควาย และเครื่องมือหินอื่นๆ ที่ทำมาจากหินประเภทหินเชิร์ต [Chert] จากบ้านท่าเย็น ภาชนะดินเผา ขวานสำริด

            มีการเพาะปลูกและทำอุตสาหกรรมขวานหินเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งอุตสาหกรรมการถลุงเหล็กที่มีในช่วงสมัยของอยุธยาที่ได้จากหลักฐานร่อยรอยที่พบตะกรันแร่และก้อนดินไฟที่เป็นส่วนประกอบของเตาถลุงเหล็กในพื้นที่ของบ้านโป่งคอม

            ข้อดีของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ของชุมชนก็คือ มีส่วนช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหน เกิดความเข้าใจถึงที่มาของบรรพบุรุษ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการเรียนในตำรา ทั้งนี้การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่แค่บอกเล่าเรื่องราวกลุ่มคนยุคโบราณ หรือจัดแสดงเพียงวัตถุโบราณเท่านั้น

            แต่ยังรวมไปถึงการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และสิ่งทอที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นด่านช้าง โดยเฉพาะคนที่บ้านพุน้ำร้อนที่เป็นคนลาวเชื้อสายลาวครั่ง

ชมกระบวนการกรรมวิธีทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ (ห่างจากพิพิธภัณฑ์แค่ไม่กี่ก้าวเอง) พิพิธภัณฑ์ผ้าทอตีนจกลายโบราณ ที่มีแนวคิดจากการพลิกฟื้นวิถีผ้าทอท้องถิ่นให้กลับมาสู่คนรุ่นหลังได้สวมใส่ และอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่กับหมู่บ้านพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นค่ะ และนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่นในการผลิตผ้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ลองไปสัมผัสกับวิถีชิวิตชาวชุมชนเอง แล้วคุณจะรัก ซึ่งผ้าตีนจกลายโบราณ สามารถนำไปตัดเย็บเป็นชุดแฟชั่น หรือชุดแบบตามสมัยนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นชุดทำงาน ชุดแฟนซี ในช่วงนี้ทีคนไทยนิยมนุ่งผ้าไทยกัน ผ้าตีนจกจะยิ่งมีความนิยมกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ตลาดถนนคนเดินประชารัฐบ้านพุน้ำร้อน ตลาดถนนคนเดินประชารัฐบ้านพุน้ำร้อน เป็นอีกหนึ่งจุดแวะใกล้เคียง หลังจากที่ได้ไปเยือนพิพิธภันฑ์พุน้ำร้อนมาแล้ว หิวๆ ต้องมาแวะกันที่นี่เลย เพราะของกินของฝาก สินค้ามากมาย ช้อปซื้อของกิน ของฝาก สินค้าแฮนด์เมด สินค้าโอท็อปของชาวด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี ดูซิดู ดูว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง แต่ที่แน่ๆ กลับออกมาอิ่มแน่นอน ตลาดเปิดตั้งแต่ตอนเย็นเป็นต้นไป ใครมาช่วงเช้าๆ อดเจอของอร่อยๆ เน้อ แม่ค้าส่วนมากจะเป็นคนในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี รวมถึงสิ้นค้าต่างๆ เน้นเป็นสินค้าท้องถิ่นกันส่วนมาก เดินได้เพลินๆ พร้อมกับหิวของอร่อยๆ ติดไม้ติดมือไปด้วย

            อีกทั้งเราจะได้ชมการแสดงของโรงเรียนบ้านพุน้ำร้อน ที่มีการแสดงร้องรำให้ดูในทุกๆ วันหยุดของถนนคนเดินตลาดประชารัฐบ้านพุน้ำร้อนในแนวใสๆ น่ารักๆ อีกหนึ่งจุดแวะชมที่ห้ามพลาดเมื่อมาสุพรรณบุรี

อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง (ปางอุ๋ง สุพรรณบุรี) อีกหนึ่งจุดแวะชมธรรมชาติที่ห้ามพลาดเมื่อมาสุพรรณบุรี ที่นี่เป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ป่าชุมชน ในบริเวณบ้านพุน้ำร้อน - หินลาด #สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยคนในหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลและพัฒนา #เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ชอบกางเต็นท์ ตั้งแคมป์ นอนแพ และเดินป่า สามารถโทรจองแพ/เต็นท์ ตั้งแต่เวลา 09:00น. - 16:00น. ได้ที่ 092-4933833 คุณแพม

กิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยว

เริ่มที่พิพิธภัณฑ์ชุมชน บ้านพุน้ำร้อน แล้วไปชมกระบวนการทอผ้าลายโบราณ อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง  และกิจกรรมเก็บใบรางแดง และการทำชา จากนั้นเดินทางถึงวัดพุน้ำร้อน เข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่และบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวด่านช้างตั้งแต่ในอดีตยุคหินใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน พุน้ำร้อน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอำเภอด่านช้างที่หนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

แล้วเข้าชมกระบวนการ/กรรมวิธีทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น ในการผลิตผ้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จากนั้นออกเดินทางต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง โดยรถอีแต๋น ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที เดินทางถึงอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง เจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและอำนวยความสะดวกเข้าห้องพักเก็บสัมภาระ โดยห้องพักเน้นไปที่ความเรียบง่าย จากนั้นออกเดินทางไปเก็บใบรางแดง (เป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้เถาเป็นสีเทา ผิวของลำต้นหรือเถาเป็นรอยแตกระแหงเป็นร่องสีแดงสลับ พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าโปร่ง)

เมื่อได้ใบรางแดงก็นำมาผ่านกรรมวิธีทำชาใบรางแดง ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพทั้งขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ  และแก้ปวดเมื่อยทำให้เส้นเอ็นในร่างกายหย่อนได้อีกด้วย หลังจากได้ลิ้มรสใบชาแล้วภายในอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงยังมีกิจกรรมต่างๆให้เราได้สัมผัส อาทิ ปั่นจักรยานน้ำ พายเรือคายัค ตกปลา สำหรับอาหารมื้อเย็น รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบขันโตก พร้อมรับฟังการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านจากชาวบ้านเมื่ออิ่มหนำสำราญกันไปแล้วก็ได้นั่งพูดคุย นัดแนะ เป็นขั้นเป็นตอน ถึงที่มาที่ไป ในการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เป้าหมาย

อีกวันออกเดินเข้าป่า เป้าหมายคือการสร้างฝ้ายชะลอน้ำ เสร็จจากกิจกรรมสร้างฝายเดินทางกลับเข้าสู่อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง รับประทานอาหารกลางวันแบบขันโตก พร้อมกับพิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับพี่น้องที่เข้าร่วมกิจกรรม เก็บสัมภาระ แวะซื้อพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ รวมไปถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงที่เกิดจากการร่วมมือกันของคนในชุมชน ที่ต้องการดำรงวิถีชีวิตที่พอเพียงในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยในชุมชน โดยแต่ละครัวเรือนปลูกพืชผักเพื่อการบริโภค แบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่าย เดินทางออกจากหุบเขาวงแวะตลาดประชารัฐเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน และเดินทางกลับ                         

หรือจะเป็นกางมุ้งนอนกลางแพยักษ์ ในอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงวิถีป่าชุมชนหมู่บ้านพุน้ำร้อน หรือปั่นจักรยานน้ำ ลดก๊าซคาร์บอนให้อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง

แล้วเราจะได้ภาพสวยๆ มาโพสลงโขเชียลในการเช็คอิน ได้เห็นวิถึชีวิตชุมชนของชาวสุพรรณบุรี

            กับอีกหนึ่งวันหยุดสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุง ขอบคุณที่ติดตามชม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านพุน้ำร้อน

ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ติดต่อชุมชน : นายอำพร ยาสุวรรณ โทรศัพท์ 089-910-9618

#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำปี2561 #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม #BloggerCulture #BloggerXDCP

 

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 1634

© www.bloggertravelista.com 2018