ได้รับเชิญจากสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย รวมถึงท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดของภาคเหนือโซนล้านนาตะวันออกให้ไปเยือน 8 ชุมชนน่าเที่ยว จะรีรออยู่ไรไปกันเลยค่ะ
ออกเดินทางกรุงเทพฯโดยแอร์เอเชียในวันฝนพรำ
เริ่มที่ชุมชนแรก ชุมชนใหญ่ของอีสานในเชียงราย มาเที่ยวที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว วิถีชีวิตริมฝั่งโขงที่น่ารักรองรับนักท่องเที่ยว
ที่นี่มีทั้งการล่องเรือชมบรรยากาศธรรมชาติ 2 ฝั่งแม่น้ำโขง สัมผัสบรรยากาศช่วงเช้าพระอาทิตย์ขึ้นและช่วงเย็นชมแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ นอนพักโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนบ้าท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว
เป็นชุมชนที่กำเนิดมาจากชาวภาคอีสานที่ได้ย้ายถิ่นขึ้นมาปักหลักถิ่นฐานอยู่รวมกันมากว่า 60 ปี วันนี้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเป็นอีสานล้านนา มีทั้งเรื่องของ การแต่งกาย อาหารพื้นถิ่น อาทิ แจ่วบอง แกงหยวกกล้วย อ่อมผัก และศิลปะการแสดง ฟ้อนรำ รำดีดไห หมอแคน หมอรำระทาน รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตลำน้ำโขง
นั่งรถอีต๊อกออกจากริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ชุมชนท่องเที่ยว บ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว เชียงรายไปชมสวนเกษตรเสาวรสปลอดสารเคมี ปลูกส่งโครงการหลวง เป็นสวนเกษตรตามรอยพ่อ
เลือกซื้อสินค้าจากใบชาถั่วดาวอินคา ที่มีสรรพคุณและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์
ถัดมาคือ ชุมชนที่ 2 ชุมชนศรีดอนชัยไตลื้อ ชุมชนตามรอยพ่อด้วยเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ชม “พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” นำโดยพ่อหลวงสมชาย วงศ์ชัย ฟังคำบรรยายเล่าเรื่องราว ความเป็นมาของชุมชนศรีดอนชัย ไตลื้อ ชมบ้านโบราณของชุมชนไตลื้อ ที่เป็นศูนย์วัฒนธรรมไตลื้อ
ชมศิลปะการทอผ้าฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้าอันวิจิตร และชมการแสดงจากชนเผ่าไตลื้อ ทานอาหารว่าง จากผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ศูนย์พัฒนาสตรี ไทลื้อ การทอผ้าและการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดไตลื้อ
ชุมชนที่ 3 3 ชุมชนปงใหม่ ชุมชนตามรอยพ่อด้วยเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ชมสวนฮอมพญา หรือสวนสมุนไพร โรงสีข้าวกล้อง แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การตีเหล็กและชมการแสดงกลองยาว ระบำชาวชนเผ่า และฟาร์มเห็ดที่นำมาแปรรูปจำหน่ายเพื่อสุขภาพ
จากนั้นแวะที่โรงเรียนฝายกวางวิทยาคม จังหวัดพะเยา ชุมชนต้นแบบเดินตามรอยพระราชา นำเสนอ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาการศึกษา ศาสตร์พระราชาและ ความหลายหลายทางวัฒนธรรมชนเผ่า ของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทำกิจกรรม CSR โดยการมอบอุปกรณ์และเสื้อผ้าให้นักเรียน พร้อมชมการแสดง 5 ชาติพันธุ์จากนักเรียนโรงเรียนฝายกวางวิทยาคม
พวกเรามีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับร่วมกิจกรรมมอบอุปกรณ์การศึกษาด้วย
ชุมชนที่ 4 มาที่ชุมชนบ้านหนองกลาง ชุมชนตามรอยพ่อด้วยเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเชียงม่วน พะเยา ปัจจุบันเริ่มสานต่อโครงการพ่อด้วยป่าชุมชนลดการเผาและทำลายป่า นำโดยคุณ เสวียน ดอนแก้ว อาหารท้องถิ่นอร่อยมาก
ไหว้พระธาตุภูปอที่มีองค์เทวดากว่า 1,000 องค์อยู่ล้อมรอบพระธาตุ
ชมจุดล่องแก่ง ไฮไลท์ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงนิเวศของชุมชน
และชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์เชียงม่วน
ชุมชนที่ 5 ชุมชนทุ่งโฮ้ง อำเภอทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ เข้าชมศูนย์การเรียนรู้ การย้อมผ้าจากต้นฮ่อม และชมการสาธิตการย้อมสีผ้ามัดย้อมและร่วมทำกิจกรรม ย้อมผ้าด้วยตัวเอง
ชุมชนที่ 6 แวะที่ชุมชนไทรย้อย ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ อ.เด่นชัย จังหวัดแพร่ พบคุณศรีนวล ก๊กไม้ ผู้ใหญ่บ้าน บรรยายความโดดเด่นของชุมชน ที่มาของต้นสักเป็นถิ่นกำเนิดเสาโล้ชิงช้าในกรุงเทพ ชมผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ อาทิ กลอยทอด กลอยนึ่ง รวมถึงงานจักรสาน ผ้าค้นมือ
ที่นี่อยู่ริมทุ่งนาบรรยากาศสวยมาก
ชุมชนที่ 7 ชุมชนห้วยพ่าน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เป็นชุมชนที่ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกข้าวเป็นหลัก เน้นของการเรียนรู้ด้วยห้องเรียนธรรมชาติ
โดยมีศูนย์การเรียนรู้ด้วยดิน ซึ่งชาวบ้านสร้างเป็นโรงเรียนดินสำหรับให้เด็กนักเรียนได้เรียนหนังสือ มีนักเรียนทั้งหมด 15 คน ครู 3 คน
ที่นี่มีพื้นที่ทางธรรมชาติให้ศึกษา เรียนรู้การทำนาแบบขั้นบันไดในแบบวิถีของชุมชนที่เป็นอยู่ รวมถึงการทำอาหารจากกระบอกไม้ไผ่ และชมการรำพิ ของกลุ่มชุมชนบ้านห้วยพ่านได้
ชุมชนสุดท้ายที่ 8 เดินทางสู่ อำเภอเมืองน่าน ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน นำโดย คุณ สุทธิพงษ์ ดวงมณีรัตน์ เล่าเรื่องราว เครื่องปั้นดินเผา
เตาเผาโบราณที่มีอายุมากกว่า 700 ปี ชมเรื่องราวของจักรสาน การทอผ้าเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ตามด้วยการบรรเลงเพลงล้านนา สะล้อ ซอ ซึง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของความเชื่อ ตะเหล๋ง
ขอบคุณสำหรับทริปดีๆ ที่ทำให้ Travelista นักเดินทาง ได้สัมผัสชุมชนอย่างมีความสุข