นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบในหลักการให้ลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับการเยียวยาชดเชยจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี ทั้งกรณีการถูกสั่งปิดโดยรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจปิดกิจการชั่วคราวด้วยตัวเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย และที่ประชุมครม.มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุอันสุดวิสัย สามารถเข้าเกณฑ์การได้รับการชดเชยได้ และจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะรับไปดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายต่อ ดังนั้นจึงขอให้ลูกจ้างของธุรกิจดังกล่าวสบายใจได้ว่าจะได้รับการชดเชยจากรัฐ
“ขณะนี้มีบางจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ปิดธุรกิจโรงแรม ลูกจ้างสามารถไปรับเงินชดเชยการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมได้ แต่บางจังหวัดที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่โรงแรมทำธุรกิจต่อไม่ได้เพราะไม่มีลูกค้า ไม่มีนักท่องเที่ยว ตั้งแต่รัฐบาลจีนสั่งไม่ให้คนออกนอกประเทศ จนถึงรัฐบาลไทยสั่งไม่ให้คนเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด สั่งไม่ให้คนนั่งทานในร้านอาหาร ผมก็พยายามต่อสู้ว่าเหล่านี้เป็นเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างในธุรกิจเหล่านี้เขาได้จ่ายประกันสังคมทุกเดือนก็ขอให้เขาได้สิทธิ์เถิด ทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งร่วมประชุมครม.อยู่ด้วย ก็ยืนยันว่าโรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัย ทาง ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ท่านก็ไม่ได้ขัดข้อง”
รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะนำเสนอเป็นเอกสารในเรื่องเดียวกันเพื่อขอให้ลูกจ้างในธุรกิจนำเที่ยว ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ได้รับเงินทดแทนจากปองทุนประกันสังคมด้วย ส่วนร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ยังไม่มีใครหยิบยกแจ้งมาให้ทราบเลย เอาเป็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวทั้งหมด ผมจะต่อสู้ให้คนในระบบประกันสังคมได้รับการดูแล เพราะรัฐบาลต้องการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ขนาดคนนอกระบบประกันสังคม ท่านนายกฯใจดีมากที่ขยายการดูแลเป็น 6 เดือนเพราะต้องการดูแลทุกคนทีเป็นคนไทย จะพยายามประสานให้ได้ทุกส่วนที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ขอใจเย็นๆ พยายามนำเข้าให้ได้ทั้งหมด
สำหรับแนวทางการชดเชยที่ผ่านมาครม.ได้เห็นชอบแนวทางการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย แยกเป็น 2 กรณี คือตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน
อีกกรณีคือตามข้อ 3 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน เช่นกัน